วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

Moodle ไม่ได้มีดีแค่เป็น Freeware


     ถ้าดิฉันย้อนไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว รูปแบบการเรียนรู้ของดิฉัน ส่วนใหญ่ได้มาจากหนังสือเรียน หรือไม่ก็ไปหาความรู้เพิ่มเติมในห้องสมุด แล้วของผู้อ่านหละค่ะเหมือนกันหรือเปล่า แต่ในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีได้ก้าวไกลไปมาก มีการนําเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีการสื่อสารมาใช้เพื่อพัฒนาการศึกษา  ทำให้เกิดการเรียนรู้แบบ ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง(Student center)  โดยที่ผู้เรียนสามารถ สร้างการเรียนรู้ได้ทุกคน (Anyone) ทุกที่ (Anywhere)  ทุกเวลา (Anytime) และ ทุกสถานที่ (Anyplace) โดยมีระบบ e-Learning เป็นเครื่องมือที่มีความสําคัญต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน วันนี้ดิฉันจึงขอแนะนำโปรแกรม Moodle ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอนได้ดีทีเดียวเลยค่ะ และที่สำคัญผู้อ่านสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีอีกด้วยค่ะ
Moodle ดีจริงหรือ
     Moodle คือ ระบบจัดการเรียนการสอนในระบบออนไลน์ให้มีบรรยากาศเหมือนเรียนในห้องเรียน หรือเรียกว่า LMS (Learning Management System) เป็นเว็บไซต์ที่ปลอดภัย โดยที่ผู้เรียนจำเป็นต้องมีชื่อผู้ใช้และรหัสผ่าน เพื่อที่จะเข้าสู่ระบบได้ Moodle ได้รับการออกแบบด้วยหลักการที่ว่า สังคมแห่งการสร้างโดยการสร้างนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ สิ่งนี้สามารถเป็นอะไรก็ได้ ตั้งแต่ประโยคที่พูด หรือข้อความที่โพสต์บนอินเตอร์เนต ไปจนถึงสิ่งที่ซับซ้อนกว่านี้ เช่น ภาพวาด บ้าน หรือ ชุดซอฟต์แวร์ หลักการ สังคมแห่งการสร้าง ได้ขยายแนวคิดไปเป็นกลุ่มของสังคมที่สร้างสิ่งต่างๆ เพื่ออีกคนหนึ่ง จนเกิดเป็นกลุ่มสังคม ที่มีการแลกเปลี่ยนความรู้กันในทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การได้ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย การเปิดกว้างในการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น และ เกิดการสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น 

ตัวอย่างเวบไซต์ที่สร้างจาก Moodle

ตัวอย่างการจัดรูปแบบเวบไซต์

มาดูจุดเด่นของ Moodle กันดีกว่าค่ะ
     ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนบทเรียนตามความสนใจ โดยที่การเรียนนั้นมีทั้งเนื้อหาที่เป็นการบรรยาย ภาพเคลื่อนไหว, แบบจำลอง และวิดีโอ เมื่อผู้เรียนศึกษาบทเรียนเสร็จแล้ว จะมีการทำแบบทดสอบ ซึ่งมีให้เลือกได้หลากหลาย เช่น ข้อสอบปรนัย อัตนัย จับคู่ ข้อสอบถูกผิด  เป็นต้น เมื่อทำข้อสอบเสร็จแล้วสามารถรู้คะแนนทดสอบได้ในทันที นอกจากนี้นักเรียนสามารถ ส่งคำถาม  ข้อคิดเห็น  อัพโหลดเอกสาร  ดาวน์โหลดไฟล์ข้อมูลได้อีกด้วย  ที่สำคัญนักเรียนกับผู้ปกครองยังได้ใช้เวลาร่วมกัน โดยที่ผู้ปกครองสามารถช่วยนักเรียนฝึกทบทวนการเรียนหลังจากเลิกเรียนร่วมกัน ผู้ปกครองสามารถใช้เว็บไซต์นี้เพื่อดูรายละเอียดว่านักเรียนได้เรียนอะไรไปบ้าง  ผลการเรียนของนักเรียนเป็นอย่างไร  หากมีข้อสงสัย  หรือคำถาม  เกี่ยวกับการเรียนของนักเรียน  หรือเนื้อหาวิชาเรียน  สามารถติดต่ออาจารย์ได้ตลอดเวลา  เพียงใส่ชื่อผู้ใช้ (User Name) และรหัสผ่าน (Password) ของนักเรียนได้เลย ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อแล้วหละค่ะว่าของฟรีที่ดียังมีอยู่ในโลก
ทีนี้มาช่วยกันพิจารณาข้อเสียของ Moodle กันบ้างนะค่ะ
     เนื่องจากเป็น Open source จึงไม่ได้รับการสนับสนุนทางด้านเทคนิค (Technical Support) หรือการสนับสนุนด้านการใช้งาน (User Support) มากนัก ผู้ใช้งานจะต้องดิ้นรนหาคำตอบ หรือลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง ซึ่งอาจจะใช้เวลานานสักหน่อย แต่ถ้าผู้ใช้งานเริ่มเข้าใจในระบบแล้ว ดิฉันเชื่อได้ว่า คุณจะต้องหลงรัก Moodle อย่างแน่นอนค่ะ

ผู้อ่านท่านใดสนใจโปรแกรม Moodle สามารถหาดาวน์โหลดโปรแกรมและคู่มือการใช้งานได้ในอินเตอร์เนตเลยค่ะ

"เทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว แต่ที่น่ากลัวคือการใช้มันในทางที่ผิด"




วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555

บัณฑิตคุณภาพในศตวรรษที่ 21

            ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มตัว หลายต่อหลายคนคงคิดว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว จึงเพิกเฉยต่อการรับรู้ข่าวสารต่างๆ อย่าเพิ่งชะล่าใจไปนะค่ะ เมื่อคุณได้อ่านบทความนี้แล้ว คุณอาจจะเปลี่ยนใจ หันมาติดตามข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนเลยก็เป็นได้ อย่ามองข้ามเรื่องที่ใกล้ตัว ก่อนที่คุณจะพลาดโอกาสดีดีไปนะค่ะ
         ถ้าเอ่ยคำว่า ประชาคมอาเซียน (Association of South East Asian Nations:ASEAN) หลายๆ คน คงเคยได้ยินกันติดหู แต่น้อยคนนักที่จะเข้าใจว่าจริงๆ แล้วคืออะไร คำว่า ประชาคม ถูกใช้เรียกกระบวนการสร้างสัมพันธ์ในอาเซียน มาแต่แรกเริ่ม เมื่อมาถึงวันนี้อาเซียนปรับแนวทางในการมุ่งสร้างทั้งภาครัฐและภาคประชาชนของทั้ง 10ประเทศ อันได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย บรูไน กัมพูชา ลาว พม่า และ เวียดนาม อาเซียนต้องการให้พลเมืองของทั้ง 10 ประเทศ เป็น ครอบครัวเดียวกัน ที่มีความแข็งแกร่งและมีภูมิต้านทานที่ดี โดยสมาชิกในครอบครัวมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี ปลอดภัย และสามารถทํามาค้าขายได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น เรียกความสัมพันธ์ ในภาพรวมทั้งหมดนี้ว่าเป็น ประชาคมอาเซียน แม้ว่าแต่ละประเทศยังแยกอยู่เป็นประเทศๆ ไป แต่ความรู้สึกนึกคิดและแนวนโยบายการปฏิสัมพันธ์กันในภูมิภาคให้ถือว่าทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนรวมกันเป็น หนึ่งประชาคม (ดัดแปลงจาก Chula Sributta, 2555) ด้วยเหตุนี้อาเซียนจึงสร้างคำขวัญเป็นหลักนำทางว่าอาเซียนมี หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งประชาคม” (One Vision, One Identity, One Community)

ประชาคมอาเซียนประกอบด้วยความร่วมมือ 3 เสาหลัก คือ
1.ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community:AEC) ท่ามกลางบริบททางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่มีการแข่งขันสูง อันส่งผลให้ประเทศต่างๆ ต้องปรับตัวเองเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจโลก รวมถึงการรวมกลุ่มการค้ากันของประเทศต่างๆ เช่น สหภาพยุโรป และเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ
2. ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (Socio-Cultural Pillar) มีเป้าหมายให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง สังคมที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน ประชากรอาเซียนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีและมีการพัฒนาในทุกด้าน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมอัตลักษณ์ของอาเซียน
3. ประชาคมความมั่นคงอาเซียน (Political and Security Pillar) เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาด้านอื่นๆ ที่เน้นการรวมตัวของอาเซียนเพื่อสร้างความมั่นใจ เสถียรภาพ และสันติภาพ ในภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนในอาเซียนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และปราศจากภัยคุกคามในรูปแบเดิม และภัยคุกคามในรูปแบบใหม่
ทั้ง 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียนจะประสบความสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อ พลเมืองของประชาคมอาเซียน เพียบพร้อมไปด้วยความรู้ที่แท้จริง สามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้กับศาสตร์ต่างๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว รู้เท่าทันเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีทักษะในการสื่อสาร และมีคุณธรรมจริยธรรม เมื่อดิฉันมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทยของเรานั้น ดิฉันมีคำถามอยู่ในใจว่า ประเทศของเราพร้อมที่จะสร้างพลเมืองที่มีคุณสมบัติเหล่านี้หรือยัง



ในปัจจุบันภาคอุดมศึกษา เริ่มมีการตระหนักเพื่อเตรียมพร้อมในการผลิตบัณฑิตให้มีศักยภาพทัดเทียมกับประเทศในสมาชิกประชาคมอาเซียน โดยมีการปรับปรุงหลักสูตร ให้สอดคล้องกับการศึกษาในศตวรรษที่ 21 โดยที่เราต้องยอมรับว่า สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มนุษย์เปลี่ยน ความรู้เปลี่ยน ความรู้แบบชัดแจ้ง (explicit knowledge) หาง่าย ความรู้แบบเฉพาะตัว (tacit knowledge) หายาก การศึกษาจะต้องเน้นที่ learning skill คือเน้นการกระทำ โดยเกิดจากการฟัง 20% และการกระทำ 70-80% ครูต้องไม่เน้นสอน แต่เน้นออกแบบการเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจให้กับลูกศิษย์ เน้นเป็นโค้ชมากกว่าการเป็นครูสอน และทำงานรับใช้สังคมได้เป็นอย่างดี ดังนั้นการศึกษาจะต้องสร้างความเป็นพลเมือง (Civic Education) โดยบทบาทของอาจารย์ต้องสอนให้นักศึกษาเป็นกำลังของเมือง (พลเมือง = พละ+เมือง) ไม่ใช่สอนให้เป็นภาระของเมือง (ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกรุง)   
   
ทิศทางการพัฒนาการอุดมศึกษาของไทย
            ทิศทางการพัฒนาการอุดมศึกษาของไทยนั้นได้เน้นไปยัง 2 เรื่องสำคัญ คือ การพัฒนาวิชาการสายรับใช้สังคม และ การจัดการเรียนรู้เพื่อผลิตบัณฑิตในศตวรรษที่ 21 (The 21st Century Learning) โดยที่การจัดการเรียนรู้ควรเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Learner-centered, Student-centred หรือ Child-centered) โดยมีหลักการว่า กระบวนการจัดการเรียนการสอนต้องเน้นให้ผู้เรียนสามารถแสวงหาความรู้ และพัฒนาความสามารถได้ตามธรรมชาติตามศักยภาพของตนเอง ทั้งนี้ควรมีการสนับสนุนให้มีการปฏิบัติในสภาพจริงของการทำงาน โดยสามารถเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนกับสังคม ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากหลายๆ สถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน อีกทั้งยังฝึกให้นักศึกษาได้คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ โดยไม่เน้นไปที่การท่องจำจากเนื้อหา ด้วยเหตุต่างๆข้างต้นจึงได้มี การจัดการเรียนรู้โดยการวิจัยเป็นฐาน (Research-based Learning หรือ RBL) ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่มุ่งเน้นทักษะกระบวนการค้นคว้า พัฒนาการคิดวิเคราะห์และบูรณาการเนื้อหาความรู้ 
ลักษณะของการจัดการศึกษาแบบ RBL มีดังนี้ คือ
หลักการที่ 1 แนวคิดพื้นฐาน เปลี่ยนแนวคิดจากเรียนรู้โดยการฟังหรือตอบให้ถูกเป็นการถามหรือหาคำตอบเอง
หลักการที่ 2 เป้าหมาย เปลี่ยนเป้าหมายจากการเรียนรู้โดยการจำ, ทำหรือใช้เป็นการคิด, การค้น และการแสวงหา
หลักการที่ 3 วิธีสอน เปลี่ยนวิธีสอนจากการเรียนรู้โดยการบรรยายเป็นการให้คำปรึกษา
หลักการที่ 4 บทบาทผู้สอน เปลี่ยนบทบาทผู้สอนจากการเป็นผู้ปฏิบัติเองเป็นการจัดการให้ผู้เรียน’ (ไพฑูรย์ สินลารัตน์, 2547)
        ที่นี้มาดูมุมมองของว่าที่บัณฑิตทุกๆ ท่านกันบ้างนะค่ะ ว่าคุณมีคุณสมบัติตามข้อใดบ้าง เพื่อเตรียมพร้อมที่จะก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียน
คุณภาพบัณฑิตยุคใหม่
1. ตามความต้องการของสถานประกอบการคนพร้อมทำงาน” (Ready to work)
            1.1 มีความรู้รอบตัว และ ความรู้ปฏิบัติ
            1.2 มีทักษะภาษาอังกฤษ (ทำความเข้าใจได้ สรุปประเด็นได้)
            1.3 มีความกล้าแสดงความคิดเห็น และมีความคิดสร้างสรรค์
            1.4 เพิ่มเติมกิจกรรมจิตอาสา
            1.5 มีทัศนคติในการพัฒนาตนเอง
            1.6 มีทักษะการสื่อสาร
            1.7 มีทักษะการปฏิสัมพันธ์
            1.8 มีความรู้ในด้านเทคโนโลยี
            1.9 ดำรงชีวิตภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม (Adaptability Skill)
2. ความเป็นพลเมือง
            2.1 สนใจ และติดตามความเป็นไปของสังคม
            2.2 มีจิตสาธารณะ
            2.3 การมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง
            2.4 พร้อมปฏิบัติตนตามกฎหมายบ้านเมือง
            2.5 เคารพผู้อื่น และความหลากหลาย
            2.6 ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
            2.7 ยึดถือประโยชน์ส่วนรวม

แต่ถึงอย่างไรก็ตามทุกๆ อย่างที่กล่าวมานั้นจะสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีนอกจากจะเกิดจากความร่วมมือของทุกๆ ฝ่ายแล้ว จุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดก็คือ เริ่มต้นเปลี่ยนจากตัวเรา มหาวิทยาลัยก็จะเปลี่ยน และท้ายที่สุดประเทศชาติก็จะเปลี่ยน ดิฉันเชื่อว่าทุกๆ คนอยากเห็นประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า เริ่มเปลี่ยนตั้งแต่เวลานี้ดีกว่าผลัดวันประกันพรุ่งนะค่ะ เพราะเวลาไม่เคยรอใคร อย่างคำกล่าวของ อ.ศิลป์ พีระศรี ที่กล่าวไว้ว่า พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว เรามาร่วมมือพัฒนาประเทศของเรากันเถอะค่ะ 





วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

อนาคตการศึกษาไทยภายใต้สังคมยุคโลกาภิวัฒน์



สังคมโลกในปัจจุบันนี้ ถูกเชื่อมโยงด้วยข้อมูลข่าวสารจากทั่วโลก ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ใดบนโลกนี้คุณก็สามารถรับรู้ข่าวสารได้พร้อมกับคนอื่นๆ ดังนั้นเราจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เทคโนโลยีมีบทบาทที่สำคัญในการดำรงชีวิตของเรา สังคมในยุคนี้ เรียกว่า สังคมยุคโลกาภิวัฒน์ (Globalization) เป็นสังคมบริโภคข้อมูล ดังนั้นบุคคลที่สามารถป้อนข้อมูลให้ผู้อื่นรับได้มากกว่าย่อมจะมีอิทธิพลเหนือกว่านั่นเอง ในขณะที่สังคมไทยส่วนใหญ่ยังคงเป็นสังคมเกษตรกรรมและเป็นอุตสาหกรรม ความสามารถในการสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศในสังคมโลก จะต้องพัฒนาสังคมของเราให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ วิธีสร้างความรู้เพื่อการพึ่งตนเอง ตลอดจนรู้จักนำคุณค่าของความเป็นไทย ความเป็นเอเชีย มาประยุกต์ใช้ให้เป็นทุนที่สำคัญในการแข่งขันต่อไป โดยต้องเริ่มต้นจากการจัดการการศึกษาของเยาวชนให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างคนไทย ให้สามารถแข่งขันบนกระแสโลกได้อย่างรู้เท่าทัน
การเปลี่ยนกระบวนทัศน์การศึกษาควรเป็นไปตามสภาพบริบทของสังคม (context) และปรากฏการณ์ของสภาพแวดล้อม (phenomena) ที่เปลี่ยนแปลง ดังแสดงในตาราง (ไพพรรณ เกียรติโชติชัย, 2545)
กระบวนทัศน์เก่า
กระบวนทัศน์ใหม่
1.มองโลกแบบแยกส่วน (atomism) โดยเชื่อการดำรงอยู่ของปัจเจกชน
1. มองโลกแบบองค์รวม (holism) โดยเชื่อในการดำรงชีวิตของกลุ่มชน
2. เชื่อว่ามนุษย์อยู่เหนือธรรมชาติ
2.เชื่อว่ามนุษย์และธรรมชาติเป็นหนึ่งเดียวกัน
3.เน้นความสำคัญของวัตถุมากกว่าจิตวิญญาณ
3.เน้นความสำคัญของพลังงานและจิตวิญญาณ
4.เชื่อว่าความจริงต้องเป็นระบบและมีความแน่นอน
4.เชื่อว่าโลกตั้งอยู่บนพื้นฐานการเปลี่ยนแปลง
5. Text-Based Learning
5. IT-Based Learning


       ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology-ICT) เป็นตัวแปรที่สำคัญในการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ (new paradigm) แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นใช่ว่าจะทำได้ทันทีทันใด หากแต่เราต้องทำการศึกษาอย่างรอบคอบและครอบคลุมในทุกๆ ด้าน เพื่อศักยภาพสูงสุดของการศึกษา แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าเรายังยึดติดกับกระบวนทัศน์เก่าๆ ความรู้ที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นความรู้สำเร็จรูป หรือ ความจริงสากล โดยมุ่งเน้นไปที่ความรู้แบบวัตถุนิยมแยกส่วน ซึ่งเป็นความรู้เฉพาะด้าน ที่เน้นกระบวนการวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม ทำให้บุคคลรับรู้เนื้อหาความรู้ในมิติเดียวเหมือนเส้นตรง ไม่เชื่อมโยงกับมิติอื่นๆ และกระบวนการเรียนรู้จะเน้นการเลียนแบบหรือท่องจำ โดยที่ผู้ศึกษาไม่สามารถต่อยอดได้ เนื่องจากเนื้อหาไม่สอดคล้องกับชีวิตหรือขาดการปฏิบัติจริง เน้นความต้องการของตลาดแรงงาน ผู้เรียนจะชำนาญเฉพาะด้านเท่านั้น และเป็นที่ยอมรับในฐานะปัจเจกชนมากกว่ากลุ่มหรือชุมชน แต่ละคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสวงหาผลประโยชน์ ทำให้การแสวงหาความรู้เป็นการศึกษาที่สร้างวัฒนธรรมของการแข่งขันชิงดี ชิงเด่น มุ่งการมีชื่อเสียง อำนาจ และการมีเงินทอง