วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

อนาคตการศึกษาไทยภายใต้สังคมยุคโลกาภิวัฒน์



สังคมโลกในปัจจุบันนี้ ถูกเชื่อมโยงด้วยข้อมูลข่าวสารจากทั่วโลก ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ใดบนโลกนี้คุณก็สามารถรับรู้ข่าวสารได้พร้อมกับคนอื่นๆ ดังนั้นเราจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เทคโนโลยีมีบทบาทที่สำคัญในการดำรงชีวิตของเรา สังคมในยุคนี้ เรียกว่า สังคมยุคโลกาภิวัฒน์ (Globalization) เป็นสังคมบริโภคข้อมูล ดังนั้นบุคคลที่สามารถป้อนข้อมูลให้ผู้อื่นรับได้มากกว่าย่อมจะมีอิทธิพลเหนือกว่านั่นเอง ในขณะที่สังคมไทยส่วนใหญ่ยังคงเป็นสังคมเกษตรกรรมและเป็นอุตสาหกรรม ความสามารถในการสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศในสังคมโลก จะต้องพัฒนาสังคมของเราให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ วิธีสร้างความรู้เพื่อการพึ่งตนเอง ตลอดจนรู้จักนำคุณค่าของความเป็นไทย ความเป็นเอเชีย มาประยุกต์ใช้ให้เป็นทุนที่สำคัญในการแข่งขันต่อไป โดยต้องเริ่มต้นจากการจัดการการศึกษาของเยาวชนให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างคนไทย ให้สามารถแข่งขันบนกระแสโลกได้อย่างรู้เท่าทัน
การเปลี่ยนกระบวนทัศน์การศึกษาควรเป็นไปตามสภาพบริบทของสังคม (context) และปรากฏการณ์ของสภาพแวดล้อม (phenomena) ที่เปลี่ยนแปลง ดังแสดงในตาราง (ไพพรรณ เกียรติโชติชัย, 2545)
กระบวนทัศน์เก่า
กระบวนทัศน์ใหม่
1.มองโลกแบบแยกส่วน (atomism) โดยเชื่อการดำรงอยู่ของปัจเจกชน
1. มองโลกแบบองค์รวม (holism) โดยเชื่อในการดำรงชีวิตของกลุ่มชน
2. เชื่อว่ามนุษย์อยู่เหนือธรรมชาติ
2.เชื่อว่ามนุษย์และธรรมชาติเป็นหนึ่งเดียวกัน
3.เน้นความสำคัญของวัตถุมากกว่าจิตวิญญาณ
3.เน้นความสำคัญของพลังงานและจิตวิญญาณ
4.เชื่อว่าความจริงต้องเป็นระบบและมีความแน่นอน
4.เชื่อว่าโลกตั้งอยู่บนพื้นฐานการเปลี่ยนแปลง
5. Text-Based Learning
5. IT-Based Learning


       ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology-ICT) เป็นตัวแปรที่สำคัญในการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ (new paradigm) แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นใช่ว่าจะทำได้ทันทีทันใด หากแต่เราต้องทำการศึกษาอย่างรอบคอบและครอบคลุมในทุกๆ ด้าน เพื่อศักยภาพสูงสุดของการศึกษา แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าเรายังยึดติดกับกระบวนทัศน์เก่าๆ ความรู้ที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นความรู้สำเร็จรูป หรือ ความจริงสากล โดยมุ่งเน้นไปที่ความรู้แบบวัตถุนิยมแยกส่วน ซึ่งเป็นความรู้เฉพาะด้าน ที่เน้นกระบวนการวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม ทำให้บุคคลรับรู้เนื้อหาความรู้ในมิติเดียวเหมือนเส้นตรง ไม่เชื่อมโยงกับมิติอื่นๆ และกระบวนการเรียนรู้จะเน้นการเลียนแบบหรือท่องจำ โดยที่ผู้ศึกษาไม่สามารถต่อยอดได้ เนื่องจากเนื้อหาไม่สอดคล้องกับชีวิตหรือขาดการปฏิบัติจริง เน้นความต้องการของตลาดแรงงาน ผู้เรียนจะชำนาญเฉพาะด้านเท่านั้น และเป็นที่ยอมรับในฐานะปัจเจกชนมากกว่ากลุ่มหรือชุมชน แต่ละคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสวงหาผลประโยชน์ ทำให้การแสวงหาความรู้เป็นการศึกษาที่สร้างวัฒนธรรมของการแข่งขันชิงดี ชิงเด่น มุ่งการมีชื่อเสียง อำนาจ และการมีเงินทอง